อีกหนึ่งความภาคภูมิใจในเดือนไพรด์กับการเฉลิมฉลองก้าวสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม
บทความ: LuxuoTH ภาพ: Shutterstock
จาก “เหตุจลาจลสโตนวอลล์” (Stonewall Uprising) ที่เกิดขึ้นในบาร์ Stonewall Inn สถานที่รวมตัวของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในย่านกรีนิชวิลเลจ รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 1969 เนื่องจากตำรวจได้ใช้ความรุนแรงขณะบุกเข้าตรวจค้นบาร์ จนสมาชิกของชุมชนเกย์ บาร์เกย์และเลสเบี้ยนอื่น ๆ รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นได้รวมตัวกันประท้วงตอบโต้การใช้ความรุนแรงและการถูกเลือกปฏิบัติของตำรวจและภาครัฐ ได้นำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสหรัฐอเมริกา
หนึ่งปีให้หลัง กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รวมตัวกันเดินขบวนพาเหรดที่นิวยอร์กและในอีกหลายเมืองใหญ่เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบาร์ Stonewall Inn และเพื่อเรียกร้องสิทธิของตน ซึ่งนับว่านั่นเป็นการเดินพาเหรดเดือนไพรด์ครั้งแรกของโลก จากนั้นกิจกรรมเคลื่อนไหวในเดือนมิถุนายนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็ดำเนินมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1999 ประธานาธิบดีบิล คลินตันก็ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น “เดือนแห่งความภาคภูมิใจของเกย์และเลสเบี้ยน” หรือ “เดือนไพรด์ (Pride Month)” และการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
ธงสีรุ้งหรือธงไพรด์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIAN+ (L – เลสเบี้ยน, G – เกย์, B – ไบเซ็กชวล, T – ทรานส์เจนเดอร์, Q – เควียร์, I – อินเตอร์เซ็กซ์, A – เอเซ็กชวล, N – นอนไบนารี) คิดขึ้นโดยกิลเบิร์ต เบเกอร์ ผู้เป็นทั้งศิลปิน นักออกแบบ และนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน เมื่อปี ค.ศ. 1978 แต่เดิมแถบสีหลักมี 8 สีที่สื่อความหมายต่างกัน ได้แก่ สีชมพู (เพศ) สีแดง (ชีวิต) สีส้ม (การเยียวยา) สีเหลือง (ความหวัง) สีเขียว (ธรรมชาติ) สีเทอร์ควอยซ์ (ศิลปะ) สีคราม (ความสามัคคี) และสีม่วง (จิตวิญญาณ) แต่เนื่องจากปัญหาในการผลิตแถบสีชมพูและเทอร์ควอยซ์ ต่อมาแถบสีหลักจึงเหลือเพียง 6 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว คราม และม่วง แต่ในปัจจุบันเราอาจเห็นธงสีรุ้งที่มีแถบสีใหม่ เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีฟ้า เพื่อสื่อถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ว่าจะสีไหน นี่ก็เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงความพยายามและการต่อสู้อันยาวนานเพื่อสิ่งที่ตนควรได้รับไม่ว่าจะในแง่การใช้ชีวิตในสังคมหรือในแง่กฎหมายของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
และถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย เพราะหลังจากที่ได้รณรงค์เรื่องการสมรสเท่าเทียมมากว่า 10 ปี ในที่สุดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมวาระ 1 ก็ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งถือว่าประเทศไทยได้เข้าใกล้การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมขึ้นไปอีกขั้น และเมื่อกฎหมายนี้เกิดขึ้น นั่นจะทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับคู่สมรสชาย-หญิง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิเซ็นยินยอมให้การรักษาพยาบาลอีกฝ่าย สิทธิในการจัดการศพ สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม เป็นต้น และเพื่อเฉลิมฉลองก้าวสำคัญนี้ งานฉลองเดือนไพรด์ในปีนี้อย่าง “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” จึงได้จัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ “Celebration of Love: Celebrating Marriage Equality” เพราะความรักไม่ว่ารูปแบบใดก็นำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียมได้
บทความที่เกี่ยวข้อง: Pantone Celebrates Pride Month with Pop-Up Store in Bangkok