เปตอง กีฬาสุดโปรดที่ครองใจชาวฝรั่งเศสมาช้านาน
บทความ: LuxuoTH ภาพ: Shutterstock
คุณรู้จักกีฬา “ทอยแก่น” หรือ “โยนลูกเหล็ก” ไหม ทอยแก่นหรือโยนลูกเหล็กก็คือชื่อเล่นของ “เปตอง” ซึ่งเป็นกีฬากลางแจ้งที่ผู้เล่นต้องโยนลูกเหล็กให้ใกล้ลูกบอลไม้เล็กๆ ที่สุด ดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่ความจริงต้องใช้สมาธิ ความคิด ความอดทน และทักษะไม่น้อย ซึ่งคนไทยเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะแม้เมื่อปีที่แล้วก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าแชมป์โลกเปตองได้เป็นครั้งแรก แต่ถึงอย่างนั้น หากว่ากันจริงๆ แล้ว เปตองก็อาจไม่ใช่กีฬากระแสหลักในหลายๆ ประเทศรวมถึงไทยด้วย แถมยังอาจถูกมองว่าเป็นกีฬาสำหรับผู้สูงอายุไปเสียอีก แต่ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างฝรั่งเศสกลับนิยมเล่นกีฬาที่ดูเนิบช้าชนิดนี้กันมากประหนึ่งเป็นกีฬาประจำชาติ จนเราเองก็อดสงสัยไม่ได้ว่ามันมีสาเหตุหรือที่มาที่ไปอย่างไร
เปตอง (Pétanque) แม้ชื่อจะเป็นภาษาฝรั่งเศส แต่กีฬาเปตองแบบดั้งเดิมนั้นถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศกรีซ มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ หรือเมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยในสมัยนั้นจะใช้ก้อนหินทรงกลมที่ได้จากภูเขาหรือใต้ทะเลมาโยนหรือทอยเพื่อประลองความแม่นยำและทดสอบความแข็งแรงของข้อมือ ต่อมาเมื่อจักรวรรดิโรมันเข้าครอบครองดินแดนกรีซ ก็ได้รับเอากีฬานี้ไปเล่นและได้เผยแพร่ไปยังดินแดนต่างๆ ในยุโรป รวมถึงฝรั่งเศสที่นิยมเล่นเปตองกันอย่างแพร่หลาย ก่อนเปตองจะกลายเป็นของสงวนไว้ให้เล่นได้เฉพาะในพระราชสำนักในยุคของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
ต่อมาในสมัยของพระเจ้านโปเลียน ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถเล่นเปตองได้ เปตองจึงกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในฝรั่งเศสตอนใต้ และมีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น เฌอ โพรวองซาล, บูล ลียงเนส และว่ากันว่าเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1907 แอเนสต์ ปิโตต์ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเล่นเปตองจนเกิดเป็นโมเดิร์นเปตองหรือเปตองแบบปัจจุบัน และได้จัดแข่งขันเปตองรูปแบบใหม่นี้ขึ้นที่ลาซิโอตาต์ เมืองท่าเล็กๆ ในแคว้นโพรวองซ์
เหตุที่แอเนสต์คิดปรับเปลี่ยนกฎกติกาของเปตองที่มีมาเนิ่นนานก็เพราะจูลส์ เลนัวร์ เพื่อนของเขาเคยเป็นแชมป์นักกีฬาเฌอ โพรวองซาล แต่ต่อมาป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ทำให้วิ่งไม่ไหว จึงไม่สามารถร่วมเล่นหรือแข่งขันเปตองได้อีกต่อไป เพราะในกติกาเดิมนั้นผู้เล่นจะต้องวิ่งไปข้างหน้า 3 ก้าวก่อนจะโยนลูก จูลส์จึงทำได้แค่นั่งมองคนอื่นๆ เล่นเท่านั้น แอเนสต์จึงปรับกติกาด้วยการลดขนาดสนามประมาณครึ่งหนึ่งและเปลี่ยนให้ผู้เล่นยืนปักหลักในวงกลมที่ขีดไว้แทนการวิ่ง ทำให้จูลส์และคนอื่นๆ ที่มีปัญหาเดินหรือวิ่งไม่สะดวกก็สามารถสนุกกับเปตองได้ เปตองฉบับปรับปรุงใหม่นี้จึงได้ชื่อว่า พิเย ตองเกส์ (pieds tanqués) หรือ เปส์ ตองกาส์ (pès tancats) แปลว่า “เท้าปัก/ยึดอยู่ที่พื้น” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น เปตอง เช่นที่เรียกกันทุกวันนี้ และความรักในเปตองก็ได้แผ่ไปทั่วฝรั่งเศส และยิ่งหยั่งรากลึกในหมู่ผู้คนทางตอนใต้
กฎกติกาคร่าวๆ ของเปตองก็คือ ผู้เล่นจะต้องยืนในวงกลมที่กำหนด แล้วโยนลูกบูลที่ทำด้วยโลหะให้เข้าใกล้ลูกเป้าหรือลูกแก่นที่ทำด้วยไม้หรือวัสดุสังเคราะห์ให้ได้มากที่สุด โดยต้องโยนให้ได้ระยะอย่างน้อย 1 ใน 3 ของขนาดสนามวัดจากจุดที่ยืน ใครทำคะแนนรวมได้ครบ 13 คะแนนก่อนก็จะเป็นผู้ชนะ โดยจะตัดสินแพ้ชนะกันในเกมเดียวเท่านั้น
เนื่องจากกติกาของเปตองนั้นถือว่าเข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องเล่นให้เป๊ะหากไม่ได้แข่งขันจริงจัง อุปกรณ์ก็มีแค่ไม่กี่ชิ้น ส่วนเรื่องสนามแข่ง จะเล่นในร่มหรือกลางแจ้ง สนามดิน สนามหิน สนามหญ้า หรือสนามไม้ก็ได้ ขอแค่ไม่ใช่สนามคอนกรีต พื้นไม่ขรุขระเป็นหลุ่มบ่อเกินไป และมีความยาวมากพอเท่านั้น พูดถึงจำนวนผู้เล่น มีแค่สองคนก็เล่นได้ ถ้าเล่นหลายคนก็ยิ่งสนุก พอบวกกับการที่ผู้เล่นไม่ต้องวิ่งหรือใช้แรงเยอะด้วย เปตองจึงกลายเป็นกีฬาที่เล่นได้ทุกเพศทุกวัย และได้รับความนิยมมากในหมู่ผู้สูงอายุ
การเล่นเปตองของชาวฝรั่งเศส ไม่ได้เพื่อออกกำลังกายหรือฝึกทักษะความสามารถเท่านั้น แต่ยังเป็นเสมือนกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ชั้นเลิศ เพราะเป็นโอกาสที่ผู้คนจะได้ออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง มาพบปะสังสรรค์ พูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว อารมณ์เล่นเปตองไปพลาง จิบเครื่องดื่มไปพลาง และเม้าท์กันไปพลาง ก็คือดีทั้งต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ ชาวฝรั่งเศสจึงเล่นเปตองกันบ่อยมาก ไม่ว่าจะวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว หากลูกหลานเดินทางไปเยี่ยมคุณตาคุณยาย กิจกรรมที่จะพลาดไม่ได้ก็คือการเล่นเปตอง ยิ่งในเขตชนบทคือสามารถเจอสนามเปตองประจำหมู่บ้านได้อย่างน้อยก็หนึ่งสนาม
แต่ก็ใช่ว่าชาวฝรั่งเศสจะเล่นเปตองกันแค่สนุกสนาน เพราะในระดับจริงจังหรือระดับอาชีพ คนชาตินี้ก็ไม่แพ้ใคร ฝรั่งเศสจัดแข่งขันเปตองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแข่งขันในชุมชนไปจนถึงการแข่งขันระดับประเทศ นักกีฬาจึงได้พัฒนาทักษะและสร้างแรงบันดาลใจอยู่เสมอ สำหรับชาวฝรั่งเศสแล้ว เปตองไม่ใช่แค่เทรนด์หรือกีฬากระแสที่มาแล้วไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิต จนมีคำพูดเล่นๆ ที่ว่า “เปตองคือศาสนาหนึ่งของฝรั่งเศส” เลยทีเดียว
บทความที่เกี่ยวข้อง: Grand Egyptian Museum Nearing Completion