ความเชื่อเรื่องอาหารในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก
บทความ: ลภีพันธ์ โชติจินดา ภาพ: Shutterstock
ไม่ใช่แค่ชาวเอเชียเท่านั้นที่มีความเชื่อเรื่องการแสวงหาโชคลาภหรือการได้รับพรดีๆ ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองคริสต์มาสและเทศกาลส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่เพื่อความเป็นสิริมงคลและการเริ่มต้นปีที่เปี่ยมไปด้วยพลังงานที่ดี ความเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยเงินทอง และความราบรื่น หลายๆ ประเทศในแต่ละทวีปต่างก็มีความเชื่อและประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินในช่วงเวลาแห่งความสุขนี้ด้วยเช่นกัน Luxuo Thailand ขอนำเสนอบางส่วนของความเชื่อเรื่องอาหารในช่วงเทศกาลสำคัญนี้จากหลากหลายวัฒนธรรมและเชื้อชาติ
ฝรั่งเศส
การได้รับประทาน กาแล็ตต์ เดส์ รัวส์ (Galette des Rois) ที่หมายถึงเค้กของกษัตริย์ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้งพายชั้นฟูกรอบสอดไส้ครีมอัลมอนด์และมี fève ซึ่งหมายถึงถั่วปากอ้าในภาษาฝรั่งเศสซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นตุ๊กตาทำจากไม้หรือเซรามิกซ่อนอยู่ในเค้ก และหากใครเจอ fève ในขนมก็จะได้เป็นพระราชาในวันนั้น หรือการรับประทาน บุช เดอ โนเอล (Bûche de Noël) หรือ ยูลล๊อก (Yule Log) เค้กรูปขอนไม้นั้นก็เป็นความเชื่อว่าปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนั้นจะเต็มไปด้วยความโชคดีและรุ่งเรือง
เดนมาร์กและนอร์เวย์
คราสเค้ก (Kransekage) หรือเค้กแหวนคล้ายโดนัททำจากมาร์ซิพานหรืออัลมอนด์บดวางซ้อนกันหลายๆ ชั้นเป็นรูปกรวยที่ชาวเดนมาร์กและนอร์เวย์นิยมรับประทานกันก่อนวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งคราสเค้กนี้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความสุขและความมั่งคั่งในปีที่จะมาถึงนั่นเอง ซึ่งเค้กชนิดนี้ก็มีการแตกแขนงไปอีกโดยมีการใช้ในโอกาสพิเศษ อาทิ ในเดนมาร์กก็จะมีเค้กลักษณะคล้ายๆ กันนี้ที่เรียกว่า โอฟโฟลดิฮอร์น (Overflødighedshorn) ที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์และใช้ในพิธีแต่งงาน
โปแลนด์
โดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้วมื้อค่ำก่อนปีใหม่หรือนิวเยียร์อีฟคือการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ที่แท้จริงสำหรับครอบครัวชาวโปแลนด์ซึ่งจะเป็นอาหารค่ำมื้อใหญ่ที่อาจจะมีมากถึง 12 เมนู โดยมีปลาแฮริ่งดองเป็นหนึ่งในเมนูที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของความร่ำรวยและเงินทองด้วยเพราะตัวปลาแฮริ่งนั้นมีประกายเป็นสีเงินนั่นเอง ส่วนเมนูจานหลักที่ขาดไม่ได้ก็คือปลาคาร์พ (ซึ่งไม่ใช่ปลาคาร์พสวยงามที่เราเลี้ยงกันในบ่อ) ไม่ว่าจะอบหรือทอดและรับประทานเสร็จบางคนเก็บเกล็ดปลาคาร์พไว้เพื่อใส่ในกระเป๋าสตางค์เพราะเชื่อว่าจะนำความโชคดีและเงินทองมาให้นั่นเอง
เยอรมัน
อาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากหมูที่โด่งดังอย่างไส้กรอกหมู (Bratwurst) หรือเมนูอะไรก็ได้ที่ทำจากหมูและเซาเออร์เคราท์ (Sauerkraut) ก็เป็นอาหารมงคลที่ชาวเยอรมันนิยมรับประทานกันในช่วงปีใหม่ซึ่งสื่อถึงความโชคดีและความเจริญก้าวหน้า นอกจากนี้ยังมีมาร์ซิพานชไวน์ (Marzipanschwein) หรือจะเรียกว่า มาร์ซิพานพิก (Marzipan Pig) หรือ หมูโชคดีที่เป็นขนมทำจากอัลมอนด์บด น้ำตาลและน้ำผึ้งปั้นเป็นรูปหมูสีชมพูและบางครั้งก็จะเป็นในรูปแบบหมูที่มาพร้อมกับใบโคลเวอร์ซึ่งโดยรวมแล้วหมายถึงความโชคดีด้วยเช่นกัน
สเปน
สเปนมีประเพณีที่เรียกว่า “Las doce uvas de la suerte” ซึ่งแปลว่า “องุ่นนำโชคทั้ง 12 ผล” โดยจะกินผลองุ่นทีละหนึ่งผลหลังเที่ยงคืนตามเสียงระฆังที่ตีในแต่ละชั่วโมง ซึ่งเชื่อกันว่าการกินองุ่นให้ตรงกับเสียงนาฬิกาหรือเสียงระฆังจะนำมาซึ่งความโชคดีและความเจริญรุ่งเรืองในปีใหม่ โดยองุ่นแต่ละลูกแสดงถึงเดือนของปี ซึ่งคุณควรที่จะซื้อองุ่นเตรียมไว้ล่วงหน้าสักนิดเพื่อให้เมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญองุ่นนั้นก็จะสุกและหวานพอดี เพราะคุณคงไม่อยากรับประทานองุ่นเปรี้ยวที่มีความเชื่อกันว่าจะหมายถึงความโชคร้าย
รัสเซีย
สำหรับประเทศรัสเซียแล้วของว่างหรือสแนกสำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะขาดไม่ได้เลยก็ต้องเป็นไข่ปลาคาเวียร์ไม่ว่าจะเป็นเรดหรือแบล็กคาเวียร์ทานคู่กับขนมปังหรือแครกเกอร์และเนยเท่านี้ก็อร่อยล้ำเลิศแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะว่าประเทศนี้มีคาเวียร์ล้นเหลือ แต่การรับประทานคาเวียร์นี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่งคั่งและร่ำรวย พร้อมกับการดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ใช่วอดก้าแต่เป็นแชมเปญภายในช่วงเวลาวินาทีแรกของการเริ่มต้นปีใหม่ เชื่อกันว่าการดื่มแชมเปญนี้จะนำมาซึ่งความโชคดีตลอดทั้งปี
อินเดีย
ชาวอินเดียมีเมนูหนึ่งที่มีชื่อว่า วิชุ คันจิ (Vishu Kanji) ซึ่งเป็นข้าวพอริดจ์ที่ทำจากข้าวอุนัคคาลารี (Unakkalari) ซึ่งเป็นข้าวกล้องชนิดหนึ่ง ถั่ว กะทิและปรุงด้วยแจ็กเกอรี่ (Jaggery) หรือน้ำตาลโตนดของอินเดียปรุงให้ออกรสหวาน เชื่อว่าการได้รับประทานเมนูนี้เป็นมื้อเช้าในวันขึ้นปีใหม่จะเป็นการเริ่มต้นปีที่ดีที่ไม่เพียงให้พลังงานและดีต่อสุขภาพเท่านั้น หากยังนำมาซึ่งความโชคดีตลอดทั้งปีอีกด้วย
ญี่ปุ่น
สำหรับอาหารที่ชาวญี่ปุ่นนั้นนิยมรับประทานกันในช่วงปีใหม่นี้แบ่งออกเป็นสองวันด้วยกันคือคืนวันก่อนขึ้นปีใหม่หรือในคืนวันที่ 31 ธันวาคม ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานเส้นโซบะที่ทำจากบัควีทซึ่งมีความหมายถึงชีวิตที่ยืนยาวและการเริ่มต้นใหม่ ส่วนในวันขึ้นปีใหม่นั้นการได้รับประทาน โอเซชิเรียวริ ที่บรรจุอยู่ในจูบาโกะหรือกล่องอาหารสุดพิเศษพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ดีและจะมีแต่ความสุขความโชคดีไปตลอดทั้งปี ซึ่งโอเซชิเรียวริ เป็นอาหารกล่องสวยหรูสามถึงสี่ชั้นที่ประกอบไปด้วยเมนูหลายหลายที่สื่อถึงความโชคดีและเป็นศิริมงคลทั้งสิ้น
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่านี่เป็นเพียงบางส่วนเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องอาหารในเทศกาลปีใหม่ของประเทศต่างๆ และมีอีกหลายๆ ประเทศที่เราไม่ได้กล่าวถึง แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าความเชื่อเหล่านี้ก็มีความคล้ายคลึงกันในกลุ่มประเทศใกล้เคียงและในบางประเทศอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากผู้อพยพที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ประเทศนั้นๆ นอกจากนี้วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบเป็นเมนูสำหรับมื้ออาหารสำคัญในเทศกาลปีใหม่ที่สื่อถึงความหมายที่เป็นมงคลในบางประเทศก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ อาทิ หมู ปลา ถั่วและธัญพืชต่างๆ ที่หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยเงินทอง หรือเส้นหมี่และเส้นก๋วยเตี๋ยวที่สื่อถึงอายุที่ยืนยาวและความโชคดี เป็นต้น หรืออาจจะเป็นขนมหวานหรือผลไม้รสหวานที่สื่อถึงความโชคดีและความราบรื่นตลอดปีนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง: Understanding the Korean Sidedishes of Banchan