ศิลปะและแฟชั่น สองโลกที่มาบรรจบกันของ Shone Puipia
บทความ: ศศิวิมล สุริยะมณี ภาพ: ปฐมพร เผือกผุด
บ่ายวันหนึ่งในช่วงหน้าร้อน เราหนีความวุ่นวายและความอบอ้าวจากย่านสาทรเข้าไปในซอยสวนพลู 3 เพื่อพบกับดีไซเนอร์ชาวไทยภายในโชว์รูมแห่งหนึ่งที่ถูกตั้งชื่อว่า Soisam (ซอยสาม) บรรยากาศที่วุ่นวายจากผู้คนขวักไขว่เริ่มเปลี่ยนมาเป็นความสงบหลังจากที่เดินผ่านประตูสีไม้สีน้ำเงินเข้ามา เงาของต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเป็นหย่อมๆ ยิ่งทำให้โชว์รูมแห่งนี้ดูน่าอยู่และร่มรื่น หลังจากชื่นชมกับความสุนทรีย์ได้สักพักเราก็ได้เข้าไปนั่งพูดคุยกับคุณโชน ปุยเปีย ดีไซเนอร์ชาวไทยผู้ก่อตั้ง Shone Puipia แบรนด์เสื้อผ้าที่อยู่ระหว่างคำว่าศิลปะและแฟชั่น เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นตัวตนของคุณโชนและสะท้อนเลือดศิลปินอันเข้มข้นที่มีอยู่ในตัวเขา รวมถึงจุดยืนอันแรงกล้าท่ามกลางตลาดแฟชั่นที่แปรผันไปตามโลกอย่างรวดเร็ว สร้างการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากทว่า Shone Puipia ไม่ได้ไหวหวั่นต่อความท้าทายเหล่านี้เลย แต่กลับโฟกัสและรักษาความเป็นตัวตนไว้ได้อย่างแน่นเหนียว บทสัมภาษณ์นี้เราจะพาไปเจาะมุมมองของดีไซเนอร์ชาวไทยคนนี้กันว่าในวงการแฟชั่นนั้นมีอะไรที่ลึกและเหนือกว่าที่เราคาดหมายไว้อย่างไรบ้าง และอะไรที่ทำให้ Shone Puipia ยังรักษาความเข้มข้นของคาแรกเตอร์ไว้ได้ขนาดนี้

ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง
วันๆ คิดถึงแต่เรื่องงาน (หัวเราะ) เราไม่ได้เรียกว่างานละกัน มันเป็นพาร์ทใหญ่ของชีวิตเราไปแล้ว มันเป็นสิ่งที่เรารักที่จะทำ รู้สึกโชคดีที่เราได้เจอในสิ่งที่เรารักและเราสามารถทำมันเพื่อประกอบอาชีพในด้านนี้ได้ และเราได้ครีเอทอยู่ทุกวัน ก็รู้สึกดีใจ
จุดเริ่มต้นของแบรนด์ Shone Puipia เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเริ่มจากอะไร
หลังจากที่เรียนจบเราก็อยากที่จะทำงานสร้างสรรค์ของเราต่อมา แล้วโชนก็มีทำสเก็ตช์ไว้อยู่เสมอ พอดีทางมิวเซียม ‘ใหม่เอี่ยม’ ที่เชียงใหม่ เขาเชิญมาจัดนิทรรศการโชว์งานสมัยเรียนที่แอนต์เวิร์ปตั้งแต่ปีหนึ่งถึงปีสี่ งานนั้นเลยเหมือนเป็นการแนะนำตัวเราต่อเมืองไทยให้คนรู้จัก เราก็เลยแพลนที่จะโชว์ผลงานต่อที่นี่ดีกว่า มันก็เลยเป็นเส้นทางเปิดตัว (Launch Path) ของเราจากตรงนั้น พอตอนจะกลับมาเลยแพลนที่จะสร้างสเปซนี้ขึ้นมาด้วย เราเลยมองหาที่ๆ เราจะโชว์งาน จริงๆ ไอเดียตอนนั้นคือมองหาที่ทำโชว์ต่างๆ ในกรุงเทพ แต่ก็ไม่เจอที่ถูกใจสักที เรามีที่ตรงนี้พอดีแล้วก็เลยคิดว่าเราทำโชว์สตูดิโอโชว์รูมของเราเพื่อที่จะเป็นโลกของเราไปเลยในการที่จะสร้างงานและโชว์ผลงาน
คิดว่าเสื้อผ้ามีหน้าที่อะไร และคิดว่ามันสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน
เชื่อมาเสมอว่าแฟชั่นมันเป็นเรื่องของตัวกลางให้คนแสดงบุคลิกและความรู้สึกของตัวเองออกมาจากเสื้อผ้าได้ มันเป็นสื่อหรืออาร์ตฟอร์มที่มันอยู่ใกล้ตัวเรามากและนั่นเป็นความงามอย่างหนึ่ง เป็นอาร์ตฟอร์มที่เราสวมใส่ได้ ในจังหวะที่มันเวิร์คมันควรจะชูตัวคนใส่นั้นให้มากที่สุด มันจะทำให้เรามั่นใจและดึงเอาด้านที่ดีที่สุดของเราออกมา คิดว่าเป็นพื้นที่ๆ คนเล่นสนุกได้ เราเปลี่ยนแปลงตัวตนผ่านเสื้อผ้า เช่น เราอยากจะเปลี่ยนอารมณ์ตัวเองหรือบางวันจะรู้สึกหม่นหมอง แต่ถ้าเราลองลุกขึ้นมาแต่งตัวใส่เสื้อตัวโปรดที่เราชอบ มันก็ให้ความรู้สึกที่ดี
ในฐานะดีไซเนอร์ มองอุตสาหกรรมแฟชั่นเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
โชนว่ามันก็เป็นอุตสาหกรรมที่มันก็เติบโตและพัฒนาขึ้นมามาก มันก้าวหน้าดีขึ้นมาเรื่อยๆ มีคนใหม่ๆ เข้ามาทำงานหลายแบบแตกต่างกันในทุกระดับเลย ก็ทำให้มีความน่าสนใจ

สิ่งที่เราหลงใหลในอุตสาหกรรมนี้คืออะไร
สำหรับโชนเองคือเราชอบที่เราได้สร้างสรรค์ความงามชนิดนึง ในฐานะดีไซเนอร์เรารู้สึกว่าเราสร้างความงามพวกนี้ออกมาให้กับโลก คือเรารักในขั้นตอนกระบวนการทำ การได้ลงมือทำ มันเป็นอุตสาหกรรมที่มันมีมืออยู่ข้างหลังเยอะในกระบวนการต่างๆ โชนชอบตรงนี้ ชอบขั้นตอนกระบวนการในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เช่น การพัฒนาคอลเลกชั่น การตัดเย็บชุด การเรียนรู้เรื่องผ้า หรือพัฒนาเทคนิคต่างๆ
ในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย Shone Puipia ถือว่าเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มได้ดี สร้างจุดแข็งให้ตัวเองอย่างไร
ตั้งแต่เริ่มมาคือมีความตั้งใจที่จะเดินแบรนด์ในวิธีใหม่ที่จริงๆ ไม่รู้ที่นี่เขาเรียกว่าใหม่ไหม แต่เราทำในสเกลเล็กๆ ทุกอย่างทำตามสั่ง (Made-to-order) และอินเฮ้าส์ คือโชนให้ความสำคัญกับตัวบุคคล ตัวชิ้นงานจริงๆ เราอยากให้คุณภาพมันดี ทั้งการตัดเย็บ วัสดุที่เราใช้ เทคนิคต่างๆ ฟินิชชิ่ง คือทุกอย่างพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เรามอบให้ลูกค้าได้ เรียกว่าเราอยากสร้างผลงานที่มันพิเศษจริงๆ รู้สึกว่ามันเป็นด้านที่เราให้คุณค่าตรงนั้น
การนำศิลปะมาประยุกต์กับแฟชั่น ส่วนไหนน่าสนใจที่สุด
ด้วยพื้นหลังครอบครัวโชนที่มีพ่อแม่เป็นศิลปิน โชนก็เติบโตในสภาพแวดล้อมที่อยู่ในวงการศิลปะ มีสตูดิโออยู่ที่บ้าน เราคลุกคลีกับมันตลอด และที่แอนต์เวิร์ปเองคือจริงๆ มันเป็นโรงเรียนศิลปะที่มีแผนกแฟชั่นและอาร์ตอยู่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรมาตลอด เราก็ดึงแรงบันดาลใจจากศิลปะและใช้แนวคิดของศิลปะในการทำงานมาตลอด คือมันค่อนข้างซึมอยู่ในตัวตนเรา และพอตอนเรามาเริ่มแบรนด์ก็ค่อนข้างเป็นก้าวอย่างธรรมชาติ (Natural Step) ของมันที่มาทำในแบบนี้ ในคอลเลกชั่นโชนก็จะดึงแรงบันดาลใจจากศิลปะมาเยอะ บางทีเราใช้เทคนิคต่างๆ จากศิลปะ หรือบางทีเรามีการทำคอลลาจเพื่อทำลายปริ้นท์ หรือมีวาดลายขึ้นมาเอง แฮนด์เพ้นท์บนผ้าอะไรแบบนี้ งานโชนมันเลยอยู่ตรงระหว่างนั้นตลอด แล้วก็ยิ่งโดยเฉพาะคอลเลกชั่น ‘Hands’ ก็คือมีไอเดียอยากจะทำเดรสที่เป็นเพ้นท์ติ้งเดรสตลอด เลยลองคุยกับพ่อดูว่าแบบมาทำอะไรด้วยกันดีไหม มันก็จะมีสามชิ้นที่โชว์ที่เป็นแคนวาสจริงๆ ที่เป็นภาพวาดน้ำมันที่ทำกับคุณพ่อ ตอนนั้นที่เราตั้งชื่อคอลเลกชั่นว่า ‘Hands’ เหมือนเราอยากยกย่องความสำเร็จของมือในงานศิลปะงานดีไซน์ด้วย

มีความตั้งใจจะสร้างอะไรให้กับคนไทยบ้างไหม
เราก็อยากที่จะเป็นหนึ่งในคนที่จะได้ผลักดันตัวแฟชั่นในไทยออกไปอีก มันก็เป็นการโชว์ความสามารถและทักษะที่คนไทยเรามี ความเชี่ยวชาญงานฝีมือต่างๆ ที่เรามี ตอนนี้ก็คือมีความสนใจอยากที่จะรวมความเป็นไทยในงานของเราเข้าด้วยกัน มันเป็นเรื่องที่โชนก็คิดอยู่ในช่วงนี้ คนเขาก็พูดถึงเรื่องซอฟท์พาวเวอร์ต่างๆ ก็เหมือนกับว่ามันก็เป็นหน้าที่ของเราดีไซเนอร์เหมือนกันที่จะโชว์ความงามจากบ้านเราหรือภูมิภาคเรา ว่าเรามีความรู้ความชำนาญ เรามีอะไรได้นำเสนอมุมมองดีไซน์ใหม่ๆ ในการใช้ผ้าไทยด้วย
ความท้าทายของ Shone Puipia
การเติบโตของแบรนด์ไปเรื่อยๆ โดยที่เราอยากให้มันโตมากขึ้นแต่คือที่ผ่านมาเราก็ไปแบบเป็นขั้นเป็นตอน เราไม่อยากเสียตัวตนของเราไป เราต้องคุมให้คุณภาพแล้วก็ความมั่นคงของแบรนด์ไว้เสมอ เราก็พยายามขยายตลาดเราไปเรื่อยๆ ให้คนรู้จักแบรนด์เรามากขึ้น จริงๆ ตอนนี้อาจจะโฟกัสอยากดึงเมืองไทยให้กลายเป็นอีกหนึ่งฮับของแฟชั่น เราก็มีข้อดีคือเรามีสเปซที่จะดึงคนมาที่นี่ อาจจะสามารถเป็นจุดมุ่งหมายทางแฟชั่นอะไรแบบนี้ก็ได้
ทำอย่างไรให้รักษาจุดยืนตรงนี้ไว้
ก็ต้องยึดมั่น (หัวเราะ) เพราะถ้าตัวเองไม่ทำทางนี้ ก็ไม่รู้จะทำทางไหน มันเป็นสิ่งที่เป็นเรามากที่สุด คือเราอยากทำแฟชั่นในแบบที่เรามีความสุขที่จะทำ มันเติมเต็มตัวเรา เราได้ใกล้ชิดกับผู้คนที่ใส่งานเรา ทุกครั้งที่เวลาเขาใส่แล้วมันทำให้เขามีความสุขหรือมันเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเขา มันนับว่าเป็นเรื่องดีๆ สำหรับเรา

คาดหวังกับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในอนาคตอย่างไร
การซัพพอร์ตที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นจากองค์กรหรือรัฐบาล เรามีความคิดสร้างสรรค์อยู่เยอะ มีแบรนด์อิสระเยอะ เรามีศักยภาพแต่เราแค่ต้องการระบบการสนับสนุนที่ดีที่อำนวยการทำงานของพวกเรา ในการผลักดันพวกเราไปสู่ต่างประเทศด้วย แพลตฟอร์มสำหรับโลคอล ครีเอทีฟซึ่งก็มีคนเริ่มทำแล้ว แต่ก็ต้องการลูกค้าหรือคนเราเองที่สนับสนุนดีไซเนอร์บ้านเรา ตอนนี้มันก็ดีขึ้นนะ
มาตรฐานของดีไซเนอร์
พูดถึงตัวเองละกันว่า มาตรฐานให้กับตัวเอง มันเป็นอาชีพที่ทำงานหนักนะ ต้องหมั่นเติมข้อมูล ดีไซเนอร์จะต้องหัดดูอะไรหลายอย่างในหลายแวดวง หมั่นเติมความรู้ให้ตัวเอง มันคือการพัฒนาตาและการปรับตัวเราต่อสิ่งต่างๆ จริงๆ งานดีไซน์มันค่อนข้างเป็นเรื่องของการคัด คัดสิ่งดี สิ่งไม่ดี ที่จะต้องตัดทอนอะไรบางอย่างออก คัดองค์ประกอบต่างๆ เพื่อมาฟอร์มงานสร้างสรรค์ของเรา

บทความที่เกี่ยวข้อง: Sarran Youkongdee and His Fascination with Antique Cabinets