สถาปัตยกรรมที่ดีกับการตอบโจทย์การใช้งานในระยะยาวของสังคม
บทความ: LuxuoTH ภาพ: จีรวัฒน์ บุญมี
สถาปัตยกรรมเป็นศาสตร์ที่จะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวก็ได้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามคำว่าสถาปัตยกรรมว่าหมายถึง “ศิลปะและวิทยาเกี่ยวกับงานก่อสร้างที่ประกอบด้วยศิลปลักษณะ” และสิ่งก่อสร้างที่ว่านี้ก็ย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์ในทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอาคารนั้นเป็นที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานก็จะส่งผลโดยตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันของทุกคนที่เกี่ยวข้อง Luxuo Thailand มองมาโดยตลอดว่าสถาปัตยกรรมเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความลักชัวรี ดังนั้นเราจึงขอนำประเด็นนี้มาเป็นหัวข้อของการสนทนากับคุณวสุ วิรัชศิลป์ ผู้ก่อตั้งและ Principal Architect Director ของ Vaslab Architecture ในบทความ Cover Story ของเดือนนี้ของเรา

คุณวสุเริ่มสนใจอยากเป็นสถาปนิกตั้งแต่เมื่อใดและเพราะอะไร
ผมรู้สึกตอนมัธยม ตอนนั้นสะสมความชอบเรื่องของการวาดรูป และชอบต่อสิ่งประดิษฐ์พวกโมเดลรถและ Lego ตั้งแต่วัยเด็ก แต่ที่สำคัญคือชอบวาดรูปและชอบเรื่องความคิดสร้างสรรค์จนทำให้มัธยมปลายเลือกเรียนสถาปนิก
นอกเหนือจากเรื่องความสวยงามและการสร้างความประทับใจแล้ว สถาปัตยกรรมมีความสำคัญหรือประโยชน์กับชีวิตของผู้คนอย่างไรบ้าง
นอกจากเรื่องของความสวยงาม สถาปัตยกรรมสามารถช่วยเหลือผู้คนให้มีความเป็นอยู๋ที่ดีได้ ผมเชื่อว่าสถาปัตยกรรมที่ดีต้องมีกู๊ดลิฟวิ่ง ก็คือว่าสามารถสร้างบ้านที่มันสบายได้ ที่อยู่อาศัยหรือแม้กระทั่งโครงการที่มันอยู่แล้วรู้สึกสบาย และอีกอย่างคือ มันจะช่วยสังคมในมุมกว้าง
สถาปัตยกรรมที่ดีในความรู้สึกของคุณวสุต้องมีอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง
สถาปัตยกรรมที่ดีในมุมมองของผมคือสถาปัตยกรรมที่อยู่แบบยั่งยืนได้ เป็นสถาปัตยกรรมที่ไทม์เลสหรือไร้กาลเวลา อาคารที่ไทม์เลสนี่เวลาเรามองย้อนกลับไป 20 ปี 30 ปี มันควรจะอยู่ในชุมชนได้นานเพียงพอที่คนจะใช้ประโยชน์จากสถาปัตยกรรมชิ้นนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น สถาปัตยกรรมที่มันยั่งยืนหน่อยอย่างเช่นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ทั้งความรู้และให้เรื่องของศิลปะ เสียดายเมืองไทยมีน้อยไปนิดหนึ่ง
สถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งมันใช้เวลานาน อย่างบ้านนี่ 2-3 ปี หรือแม้กระทั่งโครงการใหญ่ๆ ก็อาจจะนานกว่านั้น อย่าลืมว่า สถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่งสร้างขึ้นมาไม่ได้ทุบทิ้งทำลายง่าย มันควรจะต้องอยู่กับสังคมไปอีกนาน เพราะฉะนั้นสถาปัตยกรรมที่ดีควรจะมีความยั่งยืนในเรื่องของดีไซน์ ยั่งยืนในเรื่องของการใช้งาน พูดง่ายๆ มันต้องซัสเทนเนเบิล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเข้ากับบริบทของสถานที่นั้นๆ เช่น สถาปัตยกรรมในเมือง ก็ควรจะต้องอยู่ในเมือง สถาปัตยกรรมที่มันเหมาะกับบริบทอย่างต่างจังหวัด ในเขาใหญ่ ริมทะเล ก็ต้องมีสถาปัตยกรรมที่มันเหมาะสม กับภูมิอากาศและภูมิประเทศนั้นๆ

นั่นหมายความว่าต้องใช้วัสดุหรืออะไรที่มันกลมกลืนหรือเปล่า
ถูกต้องครับ เรื่องวัสดุเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะวัสดุที่ใช้ภายนอก มันก็เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องของไทม์เลสกับเรื่องซัสเทนเนเบิล วัสดุที่ทนนานหรืออยู่กับสภาพภูมิประเทศ หรือภูมิอากาศนั้นๆ ได้นานจะเป็นสิ่งที่ดี และไม่นำมาซึ่งมลพิษทางอากาศด้วยก็จะดีมาก
ถ้ายกตัวอย่างคนนิยมเอาหินอ่อนจากอิตาลีมาซึ่งมันไม่ใช่วัสดุที่เหมาะกับภูมิอากาศบ้านเรา อย่างนี้จะมีผลกระทบอะไรบ้าง
จริงๆ อาจจะมีบ้าง ถ้าเราใช้หินอ่อนข้างในอาจจะดี เพราะมันเย็น ผมชอบวัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่น หิน ไม้ กระจก เหล็ก จริงๆ คอนกรีตก็เป็นวัสดุหนึ่งที่เป็นส่วนผสมของธรรมชาติด้วยก็คือ หิน ทราย และก็ซีเมนต์ คำตอบของการเลือกใช้วัสดุแบบหินอ่อนจริงๆ ผมว่าใช้ภายในอาจจะดีกว่า ภายนอกนี่ต่างประเทศใช้เยอะเพราะภูมิอากาศประเภทหนาวมันก็อาจจะเหมาะสมกับประเทศเขา แต่ของไทยถ้าไปใช้หินอ่อนกลางเวิ้งที่มันอาจจะร้อนมากก็อาจจะไม่ค่อยเหมาะ เพราะการถ่ายเทอากาศมันไม่ดีเท่ากับโครงสร้างคอนกรีตที่เป็นอิฐมวลเบา สองชั้นและก็มีวอยตรงกลาง แต่เนื่องจากเรื่องของงบประมาณ เวลาทำอิฐสองชั้นนี่มันแพงสองเท่า
ผลงานการออกแบบในด้านสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้นจำเป็นต้องสะท้อนตัวตนของผู้ออกแบบด้วยหรือไม่ หรือว่าการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหรือผู้ใช้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งกว่า
การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี ผมว่าควรออกแบบเพื่อตามโจทย์ของลูกค้าเป็นหลักก่อน แต่เรื่องตัวตน สไตล์ของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจะมาทีหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าลูกค้าคนไหนที่เขาเหมือนกับเห็นงานบางอย่างมาแล้วมันแมทช์กับสิ่งที่เราชอบ แสดงว่าตัวตนมันก็สะท้อนผ่านตรงนั้นได้ง่ายขึ้น และส่วนมากลูกค้าที่ผมพบเจอมาก็คือจะเป็นคนที่ชอบงานที่เราทำอยู่แล้ว มันก็เลยค่อนข้างมีความเป็นตัวตนของเราสูงด้วย แต่แน่นอน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้ เช่น ต้องการบ้านกี่ห้องนอน หรือต้องการโครงการโรงแรมสไตล์นี้ และห้องประมาณนี้ และสามารถสร้างประสบการณ์ให้กับแขกที่มาพักได้ ตอนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะธุรกิจประเภทโรงแรมและรีสอร์ทนั้นประสบการณ์จะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความสวยงาม ณ ตอนนี้ เพราะฉะนั้นบางคนก็พูดเรื่องของอินทีเรียสเปซมากกว่าที่จะไปมองเรื่องความสวยงามภายนอก
นอกจากเรื่องความคิดสร้างสรรค์แล้วคุณวสุมองว่าสถาปนิกที่ดีควรจะมีคุณสมบัติอะไร
นอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว สถาปนิกที่ดีผมคิดว่าควรจะมีเรื่องของความซื่อสัตย์ ความโปร่งใสในการทำงาน เพราะว่ามันมีช่องว่างของการสร้างผลประโยชน์ส่วนตัวได้สูง โดยเฉพาะเวลาเราทำงานกับผู้รับเหมาหรือซัพพลายเออร์วัสดุต่างๆ คือถ้าเราไม่มีความโปร่งใสในการเลือกหรือเฟเวอร์ใครคนใดคนหนึ่ง ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดีที่เราควรทำใจเป็นกลางไว้ เพราะว่าโลกมันแคบ ผมว่าความซื่อสัตย์และในเรื่องของการทำงานกับลูกค้าด้วย คือเราก็ต้องไม่โอเวอร์ชาร์จเขา พูดง่ายๆ ว่าก็มีจรรยาบรรณที่ดีแล้วกัน ก็รวมถึงหลายอย่าง ความซื่อสัตย์ การทำตามเซอร์วิสที่เราตกลงกันไว้ในข้อสัญญา และก็ความชัดเจน ความชัดเจนนี่ก็สำคัญ เราเองต้องสามารถที่จะคอมโพรไมซ์ได้ด้วย แต่ก็ต้องมีจุดยืนของตัวเองว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรดีที่สุด มันต้องมีคำจำกัดความนิดหนึ่ง ต้องแจ้งลูกค้าทุกสเตปว่าเวลาเราทำแบบนี้ไป สิ่งที่จะเป็นข้อด้อยลงคืออะไร
เราเคยรับทราบมาว่าสถาปัตยกรรมแนวดีคอนสตรัคชั่นเป็นแนวหลักของคุณวสุ
สถาปัตยกรรมดีคอนสตรัคชั่นมันเกิดขึ้นตอนสมัยผมเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และบังเอิญว่ามันเป็นจุดประกายอันแรกที่ผมรู้สึกว่ามันต่างจากสถาปัตยกรรมที่ผมเคยเรียนรู้มา บังเอิญว่ามันมีการลิงค์ไปกับเรื่องของวรรณกรรม ในเรื่องของศิลปะด้านอื่น จนทำให้สถาปัตยกรรมดีคอนสตรัคชั่นค่อนข้างมีความโดดเด่นบางอย่างที่ทำให้ผมชอบ โดยเฉพาะในเรื่องของรูปทรง ในเรื่องของการสร้างความแตกต่าง ในเรื่องของการท้าทายขอบเขตของสถาปัตยกรรมยุคคอนเวนชันนอล มันทำให้ผมรู้สึกว่ามันตื่นเต้น นั่นคือจุดสำคัญที่ทำให้ผมชอบนะครับ แต่ต่อมาดีคอนสตรัคชั่นมันกลายมาเป็นอะไรบางอย่างที่เป็นจุดเริ่มต้นของผมมากกว่า ตอนหลังผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ถึงกับเป็นคอร์หลักที่ผมยึดไว้ ปัจจุบันผมก็ยังชอบสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่เป็นอะไรที่จะเรียบง่ายกว่าดีคอนสตรัคชั่น แต่ว่ามีนัยยะหรือว่ามีคอนเซปต์ที่อาจจะปูเรื่องมาจากดีคอนสตรัคชั่น

โปรเจคที่คุณวสุรู้สึกว่าท้าทายที่สุดในชีวิตหรือภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตคือโปรเจคใด
ก็น่าจะเป็น Honda BigWing ครับที่ภูมิใจที่สุด เพราะว่าตอนนั้นเราเปิดออฟฟิศมาปี ค.ศ. 2003 และก็ทำบ้านทำโปรเจคต่อเติม โปรเจคร้านอาหารเล็กๆ น้อยๆ มาจนกระทั่งปี ค.ศ. 2007 เราได้รับการทาบทามจากบริษัท AP Honda ที่เขามีการประกวดแบบ เขาก็เลือกสถาปนิกมา 5 คนที่สมาคมสถาปนิกสยามแนะนำมาว่าถ้าเป็นโปรเจคแนวนี้ Vaslab น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เหมาะ พอเขาเชิญมาเราก็ตื่นเต้น และก็ทำเพราะเรายังไม่เคยประกวดแบบมาก่อน ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน เราก็ชนะและก็ได้สร้างจริง ที่ภูมิใจเพราะว่าหนึ่งคือเป็นโปรเจคประกวดแบบจริง ได้สร้างจริง สองคือเราคิดคอนเซปต์ทั้งเรื่องของแนวทางในการออกแบบสเปซและรูปทรงในการออกแบบ สุดท้ายมันชนะใจบอร์ดที่เป็นทั้งญี่ปุ่นและคนไทยได้ ก็เป็นสิ่งที่ภูมิใจมาก และปัจจุบันก็ยังเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของกรุงเทพที่ Art Daily เว็บไซท์ของอเมริกาเขาก็ยังมองว่า 10 โปรเจคในกรุงเทพควรจะไปดูมีอันไหนบ้าง มันก็มี Honda BigWing กับ LiT Bangkok ที่ยังอยู่ในอันดับนั้นอยู่
คุณวสุมองว่าแวดวงสถาปัตยกรรมในบ้านเราทุกวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีหรือ 20 ปีก่อนมากน้อยเพียงใดและในแง่ใดที่สุด
สถาปัตยกรรมในยุคนี้แตกต่างจากเดิมพอสมควร โดยเฉพาะสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานดีๆ มากขึ้น คือในบริบทของดีไซเนอร์ สถาปนิกนี่ ถ้าเมื่อ 20 ปีที่แล้วมันดูแล้วมีไม่กี่คน มีไม่กี่ทีมที่มีพลังพอที่จะเอาความคิดสร้างสรรค์มาทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ ก็คือ สร้างงานที่ดี ว่าง่ายๆ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ที่มีพลังและมีความคิดสร้างสรรค์รวมตัวกันเยอะขึ้น และที่น่าสนใจที่สุดก็คือว่าผลงานของพวกเราที่อยู่ในเมืองไทยทำให้คนต่างประเทศกลับมามองเราเยอะขึ้นมาก ถ้าเทียบกับ 20 ปีที่แล้วนะ เพราะอย่างที่บอกว่าเมื่อก่อนมันมีสถาปนิกที่ดีแต่มันมีไม่เยอะ ปัจจุบันสถาปนิกที่ดีเยอะขึ้น และงานก็ดีมากขึ้นจนทำให้สถาปัตยกรรมของกรุงเทพหรือเมืองไทยเข้าไปสู่ระดับสากล คนก็จะเริ่มรู้จักสถาปนิกไทยมากขึ้นและก็มีสิทธิ์ที่เราจะได้ไปทำงานต่างประเทศมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันนี้สถาปัตยกรรมมีส่วนสัมพันธ์กับการออกแบบผลิตภัณฑ์มากขึ้นเรื่อยๆ คุณวสุมีความคิดเห็นในเรื่องนี้อย่างไรบ้างหรือว่าเล็งเห็นโอกาสอะไรบ้าง
ใช่เลยครับ ตอนนี้สถาปนิกหลายคนเริ่มถูกทาบทามมาจากซัพพลายเออร์หรือว่าคนทำผลิตภัณฑ์ จริงๆ ตัวผมเองก็เริ่มทำแล้วเหมือนกัน มีความน่าสนใจเพราะว่าผมเชื่อเสมอว่าสถาปนิกหรือว่าคนที่ทำงานอย่างอินทีเรียดีไซน์หรือแม้กระทั่งอาร์ติสสามารถทำการทดลองหรือว่าขยับตัวเองมาออกแบบสิ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ได้ด้วย เพราะว่าโดยแบ็คกราวด์พวกเรามันเรียนเรื่องอาร์ตหรือเรื่องการออกแบบมาครอบคลุมแทบทุกอย่างในแนวกว้าง แต่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ในบางอย่าง เรียกว่าสเกลแล้วกัน สเกลมันค่อนข้างละเอียด อย่างตอนนี้ผมเคยทำเฟอร์นิเจอร์ที่มันเป็นชิ้นไม้มาแล้ว เคยออกแบบมาแล้วแต่ยังไม่ได้ไปอยู่ในแมสโปรดักชั่นหรือทำขายเป็นเซ็ต แต่ว่าเราทำมาแล้วบ้าง และผมว่ามันน่าสนใจเพราะว่ามุมมองต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่ครั้งแรก ถ้าเราดูดีๆ เฟอร์นิเจอร์ที่มันดังระดับโลก มีหลายชิ้นที่ออกแบบโดยสถาปนิก เช่น LC4 Chaise Longue ของ Le Corbusier ที่เป็นตัวคาวไฮด์ แล้วก็มีเก้าอี้อีกหลายตัวที่ออกแบบโดยสถาปนิกดังๆ แล้วผมคิดว่าเมืองไทยตอนนี้ก็เริ่มมีแล้ว และเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่เราจะทำงานแบบครอสฟิลดิ้ง คือ สถาปนิกออกแบบผลิตภัณฑ์ และบางทีนักออกแบบผลิตภัณฑ์เมืองนอกก็มีออกแบบสถาปนิกบ้างก็มีนะแต่เขาก็ต้องให้คนอื่นเซ็นอยู่ดี ผมว่ามุมมองพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่ามันเหมือนกับเราก็เป็นนักออกแบบคนหนึ่ง และตัวโปรดักถ้าต้องการความเฟรชและความใหม่ ผมคิดว่าสถาปนิกก็มีโอกาสที่จะทำแบบนั้นได้เยอะ
คุณวสุมีอะไรที่อยากฝากเป็นข้อคิดให้กับผู้อ่านของเราหรือผู้ที่สนใจในงานสถาปัตยกรรมบ้าง
คนที่มองและชื่นชมสถาปัตยกรรมดีๆ แน่นอนถ้าใกล้ตัวที่สุดก็คือ อยากได้บ้านพักอาศัยที่สวย ที่ดี ที่อยู่สบาย ถ้ามองมากกว่านั้นไปในแง่ของพับบลิกสเกลก็คือพวกมิวเซียมหรือว่ามอล หรือว่าคอมมูนิตี้มอล หรือห้องสมุด ผมว่ามันค่อนข้างใกล้ตัวเรามาก ผมคิดว่าโดยทั่วไปแล้วคนไทยในสมัยก่อนยังไม่ค่อยรู้จักสถาปนิก แล้วเขาจะให้ผู้รับเหมาทำบ้านให้ทำสิ่งก่อสร้างให้เขา ผมคิดว่าอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะว่าเรื่องสถาปนิกนี่บางคนเขามองว่าทำไมต้องมีค่าออกแบบ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นศาสตร์ที่สำคัญมากที่จะทำให้งานสถาปัตยกรรมอยู่ได้นาน อยู่ได้แบบซัสเทนเนเบิล แล้วก็ไทม์เลส มันต้องให้สถาปนิกออกแบบ เพื่ออะไร เพื่อสังคมพวกเราจะได้น่าอยู่ขึ้น ตึก อาคารในสังคม แม้กระทั่งในคอมมิวนิตี้มันจะมีความเรียบร้อยมากขึ้น และก็มีความสวยงามมากขึ้น เวลาเราไปไหนมาไหนเราก็จะเอ็นจอยการใช้สเปซการใช้พื้นที่ของสถาปัตยกรรมที่มันมีคุณภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง: Takonkiet and Kanikar Viravan on the Importance of Human Endeavour